สยามวันวาน: พุทธศาสนาจากมุมมองของชาวฝรั่งเศส

จากดินแดนสุวรรณภูมิ สู่แดนสยาม จนเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน 
วัด เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของประเทศ 

เพลง สุวรรณภูมิ (Metropolis)

 Léon Abensour บันทึกไว้ว่า สยามเป็นประเทศเดียวในดินแดนตะวันออกไกลที่ยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมของพุทธศาสนาไว้ได้สมบูรณ์มากกว่าในธิเบต อินเดีย หรือจีน


พระมหากษัตริย์สยามปฏิบัติหน้าที่ “ผู้ปกป้องศาสนาหรือองค์อัครศาสนูปถัมภก” ด้วยศรัทธาที่ไม่เสื่อมถอย และเป็นผู้นําในหมู่กษัตริย์ที่นับถือศาสนาพุทธในการยุติข้อโต้แย้งอันเกิดจากการตีความพระธรรมวินัยที่ต่างกัน

พระสงฆ์หรือที่เรียกกันในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 ว่า “talapoins” มีบทบาทและอิทธิพลสูงในสังคม ครอบครัวไทยนิยมให้บุตรชายบวชพระ เช่นเดียวกับยุวกษัตริย์ในราชวงศ์ พระสงฆ์ไทยอยู่ร่วมกันในอารามสงฆ์คล้ายกับในยุโรปยุคกลาง มีที่ดินกว้างใหญ่ซึ่งชาวบ้านช่วยกันทํานา และเพาะปลูกเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่วัด


เมืองสําคัญ เช่น กรุงเทพฯ อยุธยา มีวัดอยู่ติดๆกันจํานวนมาก  ในชนบทก็มีวัดเช่นกันแต่บางตากว่า บางครั้งกษัตริย์จะเสด็จมาปฏิบัติธรรมหรือประกอบพระราชพิธีอย่างโอ่อ่าในวัด

วันสําคัญทางศาสนาในปฏิทินสยามมีหลายวัน วันสําคัญที่สุดคือวันที่กษัตริย์เสด็จไปทรงทอดผ้าพระกฐินยังวัดสําคัญตามประเพณี  จะเสด็จทางสถลมารคไปยังวัดแรกและเสด็จต่อไปยังวัดที่ 2 ทางชลมารค เป็นโอกาสให้ชาวสยามโดยเสด็จอย่างชื่นบาน ท้องน้ำในวันนั้นคราคร่ำไปด้วยเรือประเภทต่างๆจนแทบมองไม่เห็นผิวน้ำ มีทั้งเรือยนต์ เรือกลไฟ และโดยเฉพาะเรือพาย ความยาว 40 เมตร กว้างประมาณ 3 เมตร บรรจุคนได้ประมาณ 45 คน ท้ายเรือยกสูงประดับธง ทิวงดงาม ฝีพายประมาณ 20 คน ทําให้เรือแล่นไปด้วยความเร็วประมาณ 25 ก.ม. ต่อชั่วโมง วิถีชีวิตชาวสยามผูกพันอย่างมากกับสายน้ำ การใช้เวลาหนึ่งวันในแม่น้ำจึงมิใช่เรื่องลําบากแต่ประการใด
กระบวนพยุหยาตราชลมารค ในการแห่พระกฐินในอดีต หน้าวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ในทัศนะของ Paul Morand ผู้เขียนเรื่อง "สยาม"  วัดเป็นเครื่องแสดงให้เห็นความรุ่งเรืองของประเทศ และสยามนับเป็นประเทศพุทธศาสนาประเทศเดียวที่มีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


เขามีความเห็นเช่นเดียวกับ Léon Abensour ว่า สยามเป็นประเทศที่ยังคงเก็บรักษาพุทธศาสนาในรูปแบบเดิมไว้ได้มากกว่าอินเดียใต้ ศรีลังกา พม่า หรือเขมรซึ่งถูกยึดครองโดย มหาอํานาจตะวันตก ทําให้วัดในประเทศอาณานิคมเหล่านั้นไม่สามารถเปล่งประกายงดงามได้เหมือนกับวัดวาอารามทั่วไปในสยาม



 คุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรมของวัดไทยที่มีหลังคาแหลม พับซ้อนกันหลายชั้นจะเป็นสิ่งเตือนความทรงจําให้รําลึกถึงวิถีชีวิตไทยที่มีความสุข สงบสันติด้วย ธรรมะ ปราศจากความรู้สึกบีบคั้นที่รู้สึกได้ในอินเดียหรือความแห้งแล้งในจีน

วัดไทยเป็นศาสนสถานที่เปิดกว้างสําหรับทุกคน ทั้งพระ เด็ก คนปัญญาอ่อน สุนัขจรจัด คนโรคเรื้อน
 ขอทาน พ่อค้าขายทองคําเปลว ไข่เน่า หมากพลูและชาวตะวันตก

Carlin รองผู้ตรวจการกองทัพซึ่งมีประสบการณ์ในสยามยาวนานกว่าผู้เขียนสองคนแรก ได้แสดงทัศนะวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อเรื่องของความเชื่อและความเข้าใจที่ชาวสยามมีต่อศาสนา ประจําชาติไว้อย่างตรงไปตรงมา “ประเทศสยามนับเป็นราชอาณาจักรที่นับถือพุทธศาสนาแห่งเดียวที่ยังคงมีเอกราชอยู่ ดูเหมือนว่าประเทศนี้นับวันยิ่งยึดมั่นกับขนบประเพณีทางศาสนาโดยไม่ถึงกับมีศรัทธาแน่นแฟ้นต่อคําสอนและยึดมั่นกับการปฏิบัติอย่างไม่คลอนแคลน เมื่อครั้งสถาปนาพระมหากษัตริย์ในรัชกาลใหม่ รัฐสยามถือว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจําชาติด้วยเห็นว่าเป็นเครื่องแสดงเอกราชของชาติ และเป็นการแสดงออกซึ่งการต่อต้านอิทธิพลของต่างชาติ พระสงฆ์ในประเทศนี้มีอยู่เป็นจํานวนมาก จนอาจกล่าวได้ว่าสยามเป็นอาณาจักรแห่งพระภิกษุสงฆ์หรือที่เรียกกันว่า “พระ” โกนหัวและคิ้วอย่างหมดจด นุ่งห่มจีวรสีเหลืองตามแบบ ขนบโบราณที่ได้รับอิทธิพลมาจากทางอินเดีย (...) พระภิกษุมีอยู่ 100,000 รูป จากจํานวน พลเมือง 9,000,000 คน และมีวัดอยู่ 13,000 แห่ง เป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นภาพชัดเจนว่ามีการสอนศาสนากันอย่างไรในสยาม ไม่มีการสอนหลักคําสอนทางพุทธศาสนาให้นักเรียนอย่างเป็นระบบในชั้นเรียนในโรงเรียนของรัฐและวัด อย่างที่ทางศาสนาคริสต์ของเราทํากัน มีแต่สอนเรื่องศีลธรรม ชาวสยามส่วนใหญ่จึงประกอบ พิธีกรรมทางศาสนา โดยไม่มีความรู้ที่แจ่มชัดเกี่ยวกับหลักธรรม นี่เป็นความไม่ชัดเจนที่เป็นไปโดยตั้งใจ ท่าทีไม่ส่งเสริมทางปัญญาให้เกิดการแสวงหาทางปรัชญาอย่างจริงจังนี้ดูเหมาะเจาะกับชนชาตินี้ซึ่งรู้สึกตระหนกต่อวัฒนธรรมที่ช่างสงสัยและมีปฏิกิริยาดังๆ ต่อสิ่งรอบตัวของพวกเรา ชาติพันธุ์สยามนั้นโดยเนื้อแท้แล้ว เป็นเผ่าพันธุ์ที่คิดแบบยอมๆ คือเป็นชนชาติที่ไม่ชอบคิดและตั้งคําถาม”

 Carlin ยังเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างความเชื่อทางพุทธศาสนาและศาสนาคริสต์ไว้ โดยระบุว่านี่คือที่มาของการดําเนินชีวิตที่แตกต่างระหว่างชาวเอเชียและชาวตะวันตกเขามองว่า โลกตะวันตกก้าวหน้ากว่าทางตะวันออก และแนวคิดทางพุทธศาสนานี่เองที่เป็นตัวถ่วงความเจริญของคนเอเชีย “มีข้อแตกต่างอย่างยิ่งระหว่างพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนา แนวคิดของศาสนาพุทธนั้น อยู่ที่การมีชีวิตอยู่กับ(โลก)ปัจจุบัน และสนใจเรื่องปลายทางของชีวิตมนุษย์ในโลกหน้าแต่เพียงน้อยนิดหรือไม่สนใจเลย พุทธศาสนาให้ความสําคัญกับเรื่องของการกระทําว่าทําดีหรือทําชั่ว และ ให้ความสําคัญกับเรื่องของศรัทธาน้อยมาก ส่วนคริสต์ศาสนานั้นเป็นตรงกันข้าม นอกจากจะ คํานึงถึงเรื่องการประพฤติดีส่งผลที่ดีแล้ว ยังมีเรื่องของศรัทธาเพิ่มเข้าไปด้วย

  ชาวสยามนั้นวิพากษ์วิจารณ์ชาวตะวันตกว่าไม่ผ่อนปรนเรื่องการนับถือศาสนา รวมทั้ง แนวคิดที่ไม่เชื่อเรื่องศาสนา เห็นจะต้องยอมรับว่าทัศนคติที่ผ่อนปรนของทางพุทธนั้นเป็นไปโดยเบ็ดเสร็จ ไม่เพียงแต่กับการนับถือศาสนาของคนชาติอื่นๆ แต่กับคนที่นับถือพุทธด้วยกันเอง ขอพระผู้เป็นเจ้าได้โปรดยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วยที่หยิบยกเอาเรื่องข้อแตกต่างขัดแย้งทาง ความเชื่อขึ้นมากล่าวถึง แต่คงต้องกล่าวย้ำว่า ความไม่สนใจใยดีของชาวเอเชียในเรื่องนี้นําไปสู่ การเชื่อแต่เรื่องของโชคชะตา ไม่เคลื่อนไหวลงมือทําการใดๆ และทัศนคติแบบสบายๆ อะไรก็ได้  ศาสนาสําหรับพวกเขาจึงเป็นอะไรที่ตายตัว เป็นลูกตุ้มถ่วง ทําให้ลงมือทําอะไรช้าเกินการ ในประวัติศาสตร์ ตรงกันข้าม แนวคิดที่จะเผยแพร่ศรัทธาความเชื่อของพวกเราชาวคริสต์และความกระตือรือร้นต่อเรื่องอันเร้นลับ นับเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าโดยแท้จริง ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อมีการสร้างโบสถ์วิหารกันในยุคกลาง ก็มีการสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน และงานสงเคราะห์สังคมอื่นๆ อีกนับพันเรื่อง จึงได้ปรากฏมีมหาวิหารอันงดงามบน ผืนพิภพ ทั้งช่างเขียน ช่างปั้น และสถาปนิกในยุคเรอเนสซ็องต์ ล้วนได้รับแรงบันดาลใจอันงดงาม จากคริสตศรัทธา เช่นเดียวกับคีตกวีใหญ่ในยุคสมัยใหม่ยกเว้นวากเนอร์
ในขณะที่พุทธศาสนา ไม่ได้เป็นแหล่งกําเนิดใดๆ เช่นนี้เลย สิ่งต่างๆ ในลักษณะดังว่าที่ปรากฏขึ้นในสยาม ล้วนมีต้นแบบมาจากทางยุโรป...”

มุมมองที่กล่าวมาทุกมุมมองนั้นมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ หากเราคนไทยพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม สิ่งใดดีงามแล้วก็ทำต่อไป สิ่งใดยังไม่สมบูรณ์ก็ปรับปรุงให้สมบูรณ์  ประเทศชาติจะได้เจริญ






ที่มา:
http://www.arts.su.ac.th/departfrench/rama7/documents/introDoc/doc003.pdf
https://www.youtube.com/watch?v=ca4T60dTgDw

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อัมพชาดก: มนต์เสื่อมเพราะลบหลู่ครูอาจารย์

คนที่ชอบด่าว่าหรือใส่ร้ายผู้อื่น กรรมจะมาเร็วมาก เป็นกรรมทางวาจา มีผลร้ายแรงมาก

ใจสบายไปทั่วโลก กับบทแผ่เมตตาภาษาอังกฤษ