จรณทักษะ มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน แต่ทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ดี

จรณทักษะ อาจเป็นคำที่หลายคนไม่คุ้นเคย แต่ถ้ากล่าวถึง คำว่า Soft Skill หลายคนก็อาจจะร้องอ๋อ ทันที
คำว่า ทักษะ (skill) นั้น คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย ราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า ประกอบด้วย สมรรถนทักษะ (hard skill) และจรณทักษะ [จะระนะ-] (soft skill)

บุคคลที่มีสมรรถนทักษะจะเป็นผู้ปฏิบัติงานได้เก่ง 
บุคคลที่มีจรณทักษะจะเป็นผู้ปฏิบัติงานได้ดี

จรณทักษะ หมายถึง ทักษะที่เป็นลักษณะเฉพาะหรือคุณสมบัติเฉพาะของบุคคลในเรื่องความฉลาด ความสามารถทางอารมณ์ หรือความมีคุณธรรม มีลักษณะเป็นนามธรรม เช่น บุคลิกภาพ อุปนิสัย ความสุภาพ ความนุ่มนวลในการเข้าสังคม การใช้ภาษาติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น ความเป็นมิตร การมองโลกในแง่ดี มีวุฒิภาวะ มีความคิดริเริ่ม สามารถควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก ความเข้าใจความเป็นจริงของสภาพการณ์ต่าง ๆ 

จรณทักษะเป็นคุณลักษณะที่จะช่วยให้บุคคล สามารถดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น และสามารถทำงาน ประกอบอาชีพให้ก้าวหน้าได้เป็นอย่างดี จรณทักษะเป็นพฤติกรรมที่สร้างให้เกิดในบุคคลได้ตั้งแต่วัยเยาว์จากวัฒนธรรม การอบรมเลี้ยงดู และการเรียนรู้ ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการบ่มเพาะทักษะทางสังคมนานกว่าการเรียนรู้ทางวิชาการ การฝึกฝนงาน หรือการทำงานเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามปรกติ จรณทักษะวัดและประเมินผลยาก มักต้องใช้วิธีการสังเกต บันทึก และวิเคราะห์พฤติกรรมต่อเนื่อง จึงพอจะสรุปได้

ในภาษาอังกฤษ ทักษะในการทำงานถูกแบ่งออกเป็นสองรูปแบบหลักๆ คือ Hard Skill (ทักษะแข็ง) และ Soft Skill (ทักษะนิ่ม) 

ทักษะแข็งคือทักษะที่จำเป็นในการทำงานในแต่ละสายอาชีพ เช่น ถ้าคุณเป็นทนาย คุณต้องรู้เกี่ยวกับกฎหมายต่างๆและสามารถร่างสัญญาได้ ถ้าคุณเป็นวิศวกร คุณต้องรู้เกี่ยวกับโครงสร้างและหลักการคำนวณ ว่ากันง่ายๆคือ ทักษะส่วนใหญ่ที่คุณเรียนมาในมหาวิทยาลัยคือ ทักษะแข็ง 
ส่วนทักษะนิ่มนั้น มีขอบเขตที่กว้างกว่า โดยเป็นทักษะที่สามารถใช้ได้กับทุกสายอาชีพ ประกอบด้วยทักษะการสื่อสารและพัฒนาแนวคิดเป็นหลัก

ทุกวันนี้การมีปริญญาถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะการไขว่คว้าหาข้อมูลสามารถทำได้อย่างสะดวกโดยเพียงไม่กี่แค่คลิกบนหน้าคอมพิวเตอร์ของคุณ เพราะฉะนั้น Hard Skill จึงไม่ใช่อะไรที่หายากในตลาดแรงงานอีกแล้ว ในทางกลับกัน Soft Skill กลับเป็นทักษะที่ขาดตลาดมากในทุกวันนี้ และเป็นที่ต้องการของทุกๆบริษัทไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม

Soft Skill เป็นศัพท์ที่ในวงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง ทักษะหรือความชำนาญที่เกี่ยวข้องกับคน  ทักษะนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับความชำนาญในงานด้านใด ด้านหนึ่ง โดยตรง แต่เป็นตัวพลักดันให้การทำงานประสบความสำเร็จและก้าวหน้า

Soft Skill เป็นลักษณะส่วนบุคคลที่สัมพันธ์กับความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence Quotient) เช่นทักษะการสื่อสาร การแก้ปัญหาความขัดแย้ง การจูงใจ การจัดการอารมณ์ของตัวเอง การเจรจาต่อรอง การคิดเชิงกลยุทธ์ การสร้างทีมงาน ซึ่งแตกต่างจาก Hard Skills ที่สัมพันธ์กับความฉลาดทางสติปัญญา (Intelligence Quotient)

ตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาของไทยเร่งผลิตบัณฑิต โดยเน้นวิชาการหรือ Hard Skills มากจนไม่มีการสอนในเรื่องของ Soft Skill กันอย่างจริงจัง  การสรรหาและคัดเลือกบุคลากรของบริษัทหลายแห่งจึงใช้วิธีดูว่าบัณฑิตจบใหม่มีทักษะด้าน Soft Skill หรือไม่ จากกิจกรรมในระหว่างการเรียน โดยเชื่อกันว่า คนที่เคยทำกิจกรรมระหว่างการเรียน มักจะมีทักษะด้านคนเก่ง หรือ Soft Skill  มากกว่าคนที่เรียนเก่งได้คะแนนสูง แต่ไม่เคยร่วมกิจกรรมหรือทำงานร่วมกับคนอื่นเลย

ทั่วโลกต่างยอมรับกันว่า คนที่มีไอคิวสูงอย่างเดียว ไม่อาจประสบความสำเร็จในการทำงานหรือการดำเนินธุรกิจ หากขาดการพัฒนา Soft Skill อย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นคนเก่งยุคใหม่ต้องมีทักษะทั้ง 2 ด้าน คือเก่งทั้งงานและคน  จึงได้ชื่อว่าเป็นคนทำงาน ซึ่งเป็นสุดยอดปราถนาของทุกองค์กร

นักวิชาการบางท่านเรียกทักษะด้านนี้ว่า People Management Competency ซึ่งคนที่มีทักษะด้านนี้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารหรือหัวหน้างานเสมอไป พนักงานระดับต่างๆก็ควรจะต้องมี ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็จะทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ดี 

หากองค์กรใดมีพนักงานที่มีทักษะด้าน Soft Skill มากๆ จะเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วแม้จะมีจำนวนพนักงานที่น้อยก็ตาม แต่ผลงานที่ออกมาจะมีประสิทธิภาพสูงและทำให้ลดปัญหาในการทำงาน(เรื่องความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงาน) มีอัตราการลาออกที่ลดลง ทำให้องค์กรไม่ต้องสูญเสียเวลา สูญเสียเงิน ในการพัฒนาบุคลากรใหม่อยู่เรื่อยๆ


ที่มา: 

https://www.facebook.com/notes/1577-spirit-people/soft-skill-ทักษะสำคัญของ-คนเก่ง-ยุคใหม่-ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน/143229759166699/
http://www.royin.go.th/?knowledges=จรณทักษะ-๒๐-มีนาคม-๒๕๕๗


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อัมพชาดก: มนต์เสื่อมเพราะลบหลู่ครูอาจารย์

ยศถาบรรดาศักดิ์ปักสมมติ ผู้รู้รุดเร่งใช้สร้างกุศล ย่นย่อทางพระนิพพานให้กับตน ผู้ไม่รู้หลงกลใช้ก่อบาปกรรม