"ทฤษฎีบุญต่อบุญ" เดินตามวิถีคนฉลาด
ทฤษฎีบุญต่อบุญนี้ ท่านดร.อุทิส
ศิริวรรณ ได้เขียนไว้ โดยนำเรื่องราว “บัณฑิตสามเณร”
มาแปลให้อ่าน ซึ่งท่านบอกว่า อาจยาว แต่ได้สารัตถะ ครบถ้วน ให้อดทน ตั้งใจอ่านให้จบ
จะเป็นปลื้มกับการทำบุญทำทาน
ทฤษฎีบุญต่อบุญปรากฏตามเรื่องราวในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา
สรุปว่า “เมนูเด็ดคือปลาตะเพียน”เป็นพลังหนุนนำให้
“มหาตกยาก” กลายเป็น “มหาเศรษฐี”
ในภพชาติพระกัสสปะพุทธเจ้า และมาเกิดเป็น “บัณฑิตสามเณร”ในชาติพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
เรื่องราวตอนนี้เป็นแง่คิดว่า คนเรา
คนผู้หนึ่ง ตัวคนเดียว นอกจากจะทำ “บุญ” ด้วยตนเองแล้ว รายที่เป็นคนฉลาด ควรที่จะชักชวนคนอื่น ทำบุญในลักษณะที่เรียกว่า
“บุญต่อบุญ”และใช้ “ปัญญา” พิจารณาสังเกต“ปรากฏการณ์” ที่อยู่รอบตัว
สุดท้าย
“ด้วยบุญของตน” ที่มี พระพุทธเจ้าก็อารักขา พระอินทร์ก็คุ้มครอง ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ทิศ คือท้าวเวสสุวัณ
ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักข์ และท้าววิรุฬหกก็ยังอารักขาให้แคล้วคลาดปลอดภัย ดวงดาวที่เคลื่อนไหวในระบบสุริยจักรวาลอันไกลโพ้นคือพระอาทิตย์และพระจันทร์ก็ยังต้อง
“พักร” คือหยุดโคจรตามวิถีชั่วคราว
สะท้อนความจริงว่า...
คนเราฝืนดวง และอยู่เหนือดวงชะตาได้จริง ด้วย
“บุญ” ที่ต้องลงมือทำ ด้วยตนเองเท่านั้น จึงจะเป็น “บุญต่อบุญ” อย่างแท้จริง ดังนั้น เมื่อมีโอกาส พึงทำบุญและชักชวนคนรอบตัวทำบุญ เท่าที่จะทำได้
โดยไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน
ข้ออรรถ ข้อธรรม ตอนนี้ ตั้งใจแปลเป็น “ธรรมทาน”
เพื่อจิตเกิดสัทธาปสาทะอันแรงกล้า ในการทำบุญเพื่อต่อบุญ
โดยเดินตามวิถีคนฉลาด คือ “บัณฑิตสามเณร”ที่ได้ชื่อว่าบรรลุพระอรหัตตผล เร็วที่สุด
อายุเพียงแค่ ๗ ขวบเศษ ! โลกนี้ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้!
อดีตกาล สมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า “กัสสปะ”มีพระอรหันต์ ๒๐,๐๐๐
รูปเป็นบริวารได้เสด็จไปบิณฑบาต เมืองพาราณสี
ราษฎรรวมตัวกันถวาย “อาคันตุกทาน” แปลว่าถวายภัตตาหารสำหรับพระที่เดินทางมาชั่วคราว แบ่งเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ๘ คนบ้าง ๑๐ คนบ้าง
ต่อมาวันหนึ่ง พระกัสสปะพุทธเจ้า
ได้ทำการอนุโมทนาขอบคุณญาติโยมที่มาทำบุญถวายทาน
หลังฉันภัตตาหารเสร็จว่า
“อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย บางคนในโลกนี้คิดว่า เราจะให้ของเราเท่านั้น
จะชักชวนคนอื่นทำบุญทำไม?
จึงทำบุญด้วยตนเองเท่านั้น
ไม่ชักชวนคนอื่นร่วมทำบุญ เขาได้ทรัพย์สินเงินทอง แต่ไม่ได้พวกพ้องบริวาร
ส่วนบางคน เอาแต่ชักชวนคนอื่นทำ แต่ตนเองไม่ทำ ก็ได้เพียงแค่พวกพ้องบริวาร
แต่ไม่ได้ทรัพย์สินเงินทอง
บางคนบุญไม่ทำไม่ชักชวนคนทำบุญด้วย เขาไม่ได้ทั้งทรัพย์สินเงินทอง
ไม่มีพวกพ้องบริวาร กลายเป็นยาจกวณิพก ขอทานคนอื่นเลี้ยงชีพ
ส่วนบางคนตนเองก็ทำบุญทั้งยังชักชวนคนอื่นทำบุญด้วย เขาย่อมได้ทั้งทรัพย์สินเงินทองและได้พวกพ้องบริวาร ในที่ๆ ไปเกิด”
ชายคนหนึ่งชื่อ “มหาทุคคตะ” ผมแปลว่า “มหาตกยาก” ได้รับคำชักชวนให้ทำบุญคือถวายภัตตาหารจากเพื่อนที่เป็นผู้นำบุญ
เขาตอบเพื่อนใจบุญที่มาชักชวนทำบุญว่า “เพื่อน
ผมจะทำบุญเลี้ยงอาหารพระทำไม?ความต้องการพระเป็นเรื่องของคนมีเงินเท่านั้นส่วนผมข้าวจะหุงกินแม้เพียงทะนานเดียวก็ยังไม่มี
ผมแค่คนทำงานรับจ้างจึงมีเงินพอเลี้ยงชีพ
จะทำบุญเลี้ยงเพลพระไปทำไม?
ประมาณว่าผู้นำบุญจะต้องเป็นคนฉลาดเมื่อได้รับฟังเหตุผลการปฏิเสธเข่นนั้น เขาจึงพูดว่า “มหาตกยาก เพื่อนรัก
ในเมืองพาราณสีนี้ ยังมีคนอีกหลายคนที่ได้กินอาหารดีๆ
นุ่งห่มผ้าเนื้อดี ประดับประดาด้วยเครื่องประดับนานาชนิด
นอนเตียงสวยงาม ได้เสวยสมบัติ ส่วนเจ้าทำงานทั้งวันยังไม่ได้แม้อาหารที่อิ่มท้อง เจ้าตกยากถึงเพียงนี้
ยังไม่รู้ตัวว่าที่เราไม่ได้อะไรๆ เพราะตัวเราไม่ได้ทำบุญอะไรๆ ไว้
แม้ในชาติปางก่อน”
มหาตกยากตอบว่าทราบเป็นอย่างดีเพื่อน เพื่อนที่มาชักชวนได้บอกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้
ทำไมไม่ทำบุญไว้ตั้งแต่ในชาตินี้ตัวเจ้ายังหนุ่มแน่น มีกำลังวังชา แม้เจ้าจะทำงานกินค่าแรงรายวัน แต่ก็มีศักยภาพที่จะทำบุญ ถวายภัตตาหารเพลได้จริง ๆไม่ทำเลยหรือ?
หลังจากได้รับเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหาร ๑ มื้อ
รับทำบุญพระไว้ เท่าที่จะทำได้เพียงแค่ ๑ รูป ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าได้เมตตาโปรดรับนิมนต์ เขาได้ทำงานรับจ้างจนมีเงินเพียงพอที่จะซื้อ“ปลาตะเพียนแดงหมกทราย ๔ ตัว” มาปรุงเป็น
“เมนูเด็ด” ถวายพระพุทธเจ้ากัสสปะ
ผลบุญที่ก่อนถวาย กำลังถวาย และหลังจากถวาย รู้สึกคล้ายกับได้ครอบครอง “สมบัติจักรพรรดิ” ผลบุญหนุนนำให้ “มหาตกยาก” เปลี่ยนพลิกชีวิตกลายเป็น "มหาเศรษฐี" รวยขึ้นมาทันตาเห็นทันที! ที่ดินบริเวณรอบๆ บ้าน เกิดขุดพบ “อัญมณี”
นานาชนิด เขาร่ำรวยสร้างฐานะจนกลายเป็นมหาเศรษฐีได้ บุญญานุภาพ มีพลังอำนาจมหัศจรรย์ยิ่งนัก
---------------------------------------------------
หลังเวียนว่ายตายเกิดหลายภพหลายชาติ มาเกิดในครรภ์ของสกุลที่เป็นอุปัฏฐากพระสารีบุตร กรุงสาวัตถี ในสมัยพระโคตมะพุทธเจ้าขณะอยู่ในครรภ์ แม่แพ้ท้องนึกอยากทำบุญเลี้ยงพระ ๕๐๐ รูป ด้วยเมนูเด็ดคือ “ปลาตะเพียนแดง” และต้องการ “กิน” อาหารที่เหลือจากพระฉัน พอได้ทำตามที่อยากทำ อาการแพ้ท้องก็หายไป และได้จัดเลี้ยงพระอีก ๗ ครั้ง
ด้วยเมนูเด็ดคือปลาตะเพียนแดง พระที่มาฉันก็จำนวน ๕๐๐ รูป พระอรรถกถาจารย์เห็นว่าการเลือกถวายเมนู
“ปลาตะเพียนแดง” เป็นผลบุญต่อเนื่องจากการที่ได้ถวายปลาในสมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า
แม่เด็กตั้งชื่อลูกชายว่า “บัณฑิต” โดยให้เหตุผลกับพระสารีบุตรว่า ตั้งแต่เด็กลงมาเกิดในครรภ์ ขณะอยู่ในท้องแม่
ขนาดทาสที่เป็นคนใบ้ พูดติดอ่าง ก็ยังกลับกลายเป็นคนฉลาด ทันคน พูดจารู้เรื่อง
พออายุ ๗ ขวบ เด็กน้อยก็ขอบวชเป็นสามเณร วันหนึ่งเดินไปบิณฑบาต ผ่านจุดต่างๆ
เป็นต้นว่าเดินผ่านไปในท้องนากับพระสารีบุตร ได้เห็น
“คลองน้ำ” เล็กๆ ที่คนขุดไว้สำหรับวิดน้ำทำนา
และ “ไขน้ำ” เข้านาได้ตลอดเวลาที่อยากทำ
ได้เห็น “ลูกศร” ที่นายช่างลนไฟดัดให้ตรง
ได้เห็น “ช่างเกวียน”
ถากไม้ทำล้อให้เกวียนแล่นไปได้
เกิดความสงสัยว่า “คลองน้ำ” “ลูกศร” และ “ไม้”
มีจิตใจหรือไม่?
เมื่อพระสารีบุตรตอบว่าทุกสรรพสิ่งไม่มีจิตใจ สามเณรก็ขอกลับวัดก่อน ขณะยกมือไหว้ ได้ขอ “เมนูเด็ด”
จากพระอรหันต์คือพระสารีบุตรว่า“ท่านครับ เมื่อท่านจะบิณฑบาตนำอาหารมาเลี้ยงผม ผมขอเมนูเดียวอาหารที่ปรุงรสโดยใช้ปลาตะเพียนทำ”
พระอรหันต์แปลกใจ ย้อนถามว่า
“จะเอาเมนูเด็ดนี้มาจากไหน?”
สามเณรบัณฑิตตอบท่านว่า “ท่านขอรับ เมื่อท่านไม่ได้ด้วยบุญของท่าน ก็จักได้ด้วยบุญของผม”
อาสน์พระอินทร์ร้อน พระอินทร์หรือท้าวสักกะพิจารณา รีบสั่งการท้าวมหาราชทั้ง ๔ ให้ดูแลทิศทั้ง ๔ อย่าให้นกบินมาส่งเสียงร้องใกล้ๆ
กุฏิที่สามเณรพำนัก รับสั่งให้จันทรเทพบุตรฉุดดวงจันทราเอาไว้
ไม่ให้เดิน บัญชาการให้สุริยเทพบุตรฉุดดวงอาทิตย์ให้หยุดหมุนเป็นการชั่วคราว สามเณรอยู่ในบรรยากาศเงียบสงัด ได้บรรลุธรรมรวดเดียวจบ ๓ ขั้น โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล
พระอรหันต์สารีบุตร เดินไปนึกไปว่า จะหา “เมนูเด็ด” จากไหนมาถวายลูกเณร คิดทบทวนนึกขึ้นได้ว่า สมควรไปหาโยมตระกูลนี้ บังเอิญวันนั้น
ตระกูลนั้นได้ปลามาเยอะแยะมากมาย พอฉันเสร็จ พระอรหันต์ แสดงว่าต้องการ เมนูปรุงสดแบบ to go ห่อกลับวัด ไปฝากลูกเณร ญาติโยมรู้ใจ ได้จัดเมนูปลาตะเพียนแดง ถวายจนเต็มบาตร
สามเณรบวชมาได้ ๗ วัน ในวันที่ ๘ ก่อนที่จะบรรลุธรรม เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ บันทึกไว้ในชั้นอรรถกถาหลายเรื่อง อาทิได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ปราศจากกิเลส พอสำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงค่อยฉันเมนูเด็ดคือ
“ปลาตะเพียนแดง”
พอสามเณรฉันเพลเสร็จ จันทรเทพ ปล่อยพระจันทร์ สุริยเทพ ปล่อยพระอาทิตย์ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เลิกอารักขาทิศทั้ง ๔
พระอาทิตย์เดินตามปกติ กลายเป็นเวลาบ่ายคล้อย พระที่ยังเป็นปุถุชนชอบจ้องจับผิดวิพากษ์วิจารณ์กันเสียงขรมว่า
แดดบ่ายคล้อย พระอาทิตย์เลยเที่ยงวันมามากแล้ว และสามเณรเพิ่งฉันเพลเสร็จ สักพักนี้เอง เกิดอะไรขึ้นหนอแล?
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เป็นอย่างนั้นจริงภิกษุทั้งหลาย เวลาที่ผู้มีบุญบำเพ็ญสมณธรรม เทพบุตรฉุดพระจันทร์และพระอาทิตย์เอาไว้มิให้หมุนท้าวมหาราชทั้ง ๔
อารักขาตลอดแนวป่ารอบวิหารทั้ง ๔ ทิศ พระอินทร์มายืนเฝ้าตรงสายยูพวงกุญแจ แม้ต้วเราเอง ก็ยังไปยืนอารักขาสามเณรตรงซุ้มประตู
บัณฑิตสามเณร เห็นคนปล่อยน้ำจากลำรางเข้านาข้าว เห็นช่างศรกำลังดัดลูกศรให้ตรงและแลเห็นช่างไม้กำลังถากไม้ ยึดเอา “กรณีศึกษา” ทั้ง ๓ แบบที่แตกต่างกัน กำหนดเป็น “อารมณ์” พิจารณาฝึกตน สุดท้ายได้บรรลุธรรมชั้นสูง สำเร็จเป็นพระอรหันต์เร็วกว่าปกติทั่วไป และเมื่อจะทรงเชื่อมโยงข้อความข้างต้นเพื่อจะทรงแสดงหลักธัมมะ ได้ตรัสพระคาถาไว้ดังนี้
“เป็นความจริงว่า
คนไขน้ำ ย่อมไขน้ำ
ข่างศร ย่อมดัดลูกศร
ข่างถาก ย่อมถากไม้
ส่วนบัณฑิต ย่อมฝึกตน”
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=476513802716793&id=100010745317659
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น