อัมพชาดก: มนต์เสื่อมเพราะลบหลู่ครูอาจารย์

"ถึงจะสูงเทียมฟ้าอย่าดูถูก 
ครูเคยปลูกวิชามาเเต่หลัง 
ศิษย์ไร้ครูอยู่ไม่ได้ไม่จีรัง 
อย่าโอหังลบหลู่ครูอาจารย์"



อัมพชาดก: มนต์เสื่อมเพราะลบหลู่ครูอาจารย์

เหตุที่เล่าชาดก
พระเทวทัตกล่าวว่าเราเป็นพระพุทธเจ้า พระสมณโคดมมิใช่อาจารย์ ไม่ได้บวชให้เรา เมื่อกล่าววาจาเช่นนั้น ก็เสื่อมจากฌาน เมื่อเดินทางมากรุงสาวัตถี ก็ถูกธรณีสูบอยู่ภายนอกสวนเชตวัน ไปเกิดอยู่ในนรกอเวจี แม้ในกาลก่อนพระเทวทัตก็เคยกระทำเช่นนี้มาแล้ว ดังนิทานอดีตชาตินี้


พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่อง "อัมพชาดก"ในอดีตกาลมีพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งได้เล่าเรียนมนต์เสกมะม่วงให้ออกผลได้ในชั่วพริบตาโดยอาจารย์ซึ่งเป็นจัณฑาล มีข้อแม้ว่า "มนต์นี้หาค่ามิได้ อาศัยมนต์นี้แล้วจะได้ลาภสักการะมากมาย ถ้ามีคนถามว่าเรียนมนต์นี้มาจากใคร ให้บอกตามความเป็นจริงว่าศึกษามาจากอาจารย์ผู้เป็นจัณฑาล มิฉะนั้นแล้วมนต์ก็จะเสื่อม"


พราหมณ์หนุ่มใช้มนต์เสกมะม่วงในการเลี้ยงชีพ วันหนึ่งคนรักษาพระราชอุทยานของพระเจ้ากรุงพาราณสีซื้อมะม่วงที่เกิดจากมนต์ไปถวายพระราชา พระองค์ทรงติดใจรสชาติของมะม่วง จึงให้ถามพราหมณ์หนุ่มว่าเรียนมนต์เสกมะม่วงมาจากใคร 

ด้วยความละอายที่จะบอกว่าอาจารย์ของตนเป็นจัณฑาล พราหมณ์หนุ่มจึงกราบทูลเป็นเท็จว่าได้เล่าเรียนมนต์มาจากทิศาปาโมกข์แห่งกรุงตักศิลา ทันทีที่พราหมณ์กล่าวเท็จ มนต์ก็เสื่อมโดยไม่รู้ตัว เมื่อพระราชารับสั่งให้เสกมะม่วงให้เสวย แม้พราหมณ์จะร่ายมนต์อย่างไร ก็ไม่ได้ผลอย่างเช่นเคย พราหมณ์หนุ่มจึงกราบทูลความจริงว่าตนได้เรียนมนต์มาจากอาจารย์จัณฑาล

เมื่อพระราชาทรงทราบความจริงก็กริ้วพราหมณ์หนุ่ม แล้วตรัสว่า "บุคคลใดรู้แจ้งธรรมจากอาจารย์ใด ไม่ว่าเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล อาจารย์นั้นแลเป็นคนที่ประเสริฐสุดของเขา" เมื่อตรัสแล้วพระราชาก็รับสั่งให้เฆี่ยนพราหมณ์หนุ่ม และขับไล่ออกจากพระนคร


พราหมณ์หนุ่มกลับไปยังที่อยู่ของอาจารย์จัณฑาล กราบแทบเท้าอาจารย์แล้วสารภาพความผิด และขอเรียนมนต์ใหม่ แต่อาจารย์จัณฑาลกล่าวว่า " เราประสาทมนต์แก่เจ้าโดยธรรม เจ้าก็รับเอาไปโดยธรรม ถ้าเจ้าตั้งอยู่ในธรรม มนต์ก็จะไม่เสื่อม ดูก่อนเจ้าทรามปัญญา มนต์นั้นเจ้าได้มาโดยลำบาก เป็นของหายากที่จะหาได้ในมนุษย์ในโลกนี้ เราอุตส่าห์ถ่ายทอดให้เจ้าเพื่อเป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพ แต่เจ้ากลับทำลายด้วยการพูดเท็จ หลอกลวง เจ้าคนชั่วเอย มนต์ใดจะมีแก่เจ้า เราไม่มีวันถ่ายทอดมนต์ให้เจ้าอีกแล้ว" เมื่อกล่าวจบ อาจารย์จัณฑาลก็ขับไล่พราหมณ์หนุ่มไปให้พ้นจากบ้านของตน พราหมณ์หนุ่มออกจากบ้านอาจารย์จัณฑาลด้วยจิตใจแตกสลาย คิดว่าตนจะมีชีวิตอยู่ทำไม ตายเสียดีกว่า แล้วก็เดินทางเข้าป่า ตายอย่างคนอนาถา



การไม่เชื่อฟังครูอาจารย์ เป็นเหตุแห่งความเสื่อม

แล้วจึงทรงประชุมชาดกว่า มาณพอกตัญญู ในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระเทวทัต พระราชาได้มาเป็นพระอานนท์ ส่วนบุตรคนจัณฑาล คือเราตถาคตแล



ที่มา: 

https://www.facebook.com/Kunnate/posts/371130499613826


ความคิดเห็น

  1. กราบอนุโมทนา สาธุเจ้าค่ะ

    ตอบลบ
  2. ชาวพุทธจำไว้....ลบหลู่ครูอาจารย์ ย่อมเป็นสันดานของคนพาลชั่วร้าย
    ใครได้เอาไว้เป็นพวกพ้อง...ต้องมัวหมองอยู่ร่ำไป
    พระพุทธะตรัสบอกไว้..ให้ห่างไกล เป็นร้อยโยชน์พันโยชน์
    ...แม้มีเขาคนเดียวในโลก...ก็ไม่ควรคบ...
    ..การเที่ยวไปผู้เดียวของเรา ก็ชื่อว่ายังประเสริฐกว่า...คบคนเช่นนั้น

    ตอบลบ
  3. กราบอนุโมทนา สาธุ สาธุ สาธุ ครับ

    ตอบลบ
  4. อย่าลบหลู่ครูอาจารย์ นี่คือบทเรียนล้ำค่า สาธุ

    ตอบลบ
  5. กราบอนุโมทนาบุญ เจ้าค่ะ สาธุ สาธุ สาธุ

    ตอบลบ
  6. กราบอนุโมทนาบุญคะ

    ตอบลบ
  7. สาธุ​ เจ้าค่ะ​ จะตั้งใจฟัง​ ครูบาอาจารย์​

    ตอบลบ
  8. สาธุๆค่าาา

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

จรณทักษะ มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน แต่ทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ดี

ยศถาบรรดาศักดิ์ปักสมมติ ผู้รู้รุดเร่งใช้สร้างกุศล ย่นย่อทางพระนิพพานให้กับตน ผู้ไม่รู้หลงกลใช้ก่อบาปกรรม