สรรพวิชาเกิดจากวัดตั้งแต่เกิดจนตาย


“ไม่ให้ตัดคำว่า 'วัด' ที่ใช้นำหน้าชื่อโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของวัด หรือธรณีสงฆ์ หากโรงเรียนใดตัดออกไปแล้ว ต้องนำกลับมาใส่ในชื่อโรงเรียนเช่นเดิมโดยเรื่องนี้ มส.พิจารณาตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนา ในคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งยังได้แนบหนังสือของนายอดิศักดิ์ วรรณสิน นายกสมาคมพุทธศาสน์สัมพันธ์ ที่ได้ขอให้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาตรวจสอบเรื่องการใช้คำว่า 'วัด' รวมกับชื่อของโรงเรียน เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญกับความมั่นคงของประเทศชาติ เนื่องจากมีโรงเรียนวัดหลายแห่งได้ตัดชื่อวัดออกจากชื่อโรงเรียนไปแล้ว”

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นมติเห็นชอบของที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ซึ่งถือว่าเป็นมติที่โดนใจพุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อย

อย่างไรก็ตามตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วัดมีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชนตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ที่เกี่ยวพันกับชาวไทยโดยมีพระสงฆ์เป็นผู้ให้บริการต่างๆ ที่จำเป็น เช่น ให้การศึกษาแก่เด็กชาย ให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้านที่เดือดร้อน ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตลอดถึงให้การรักษาพยาบาล นอกจากนั้นวัดยังช่วยเก็บรักษาวัฒนธรรม โดยการที่พระสงฆ์ได้เข้าร่วมในกิจกรรมทางสังคมต่างๆ


ความเหมือนกันของสถานที่ตั้งของวัดทุกแห่ง คือ วัดจะอยู่เกือบใจกลางหมู่บ้าน เพื่อเป็นศูนย์กลางทางสังคมและวัฒนธรรม ของชาวบ้านอย่างเห็นได้ชัด ตลอดทั้งวันวัดจะมีผู้คนเดินเข้าออกมิได้ขาด ชาวบ้านหลายคนพากันมาตักน้ำที่บ่อ ผู้ใหญ่จะมาถวายอาหารเพลแก่พระสงฆ์ แล้วฟังเทศน์ประจำวันตอนบ่าย บางคนก็มาปรึกษาปัญหาส่วนตัว และขอคำแนะนำต่างๆ จากเจ้าอาวาส

งานบุญและงานประเพณีรื่นเริง เช่น ภาพยนตร์ หมอลำ ฯลฯ มีกันอยู่เรื่อยๆ การประชุมเกี่ยวกับกิจการงานของส่วนรวม ก็มากระทำกันที่วัด เช่น จะตัดถนนไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่งเมื่อไร จะจัดงานบุญบั้งไฟกันวันไหน แม้แต่คอกสำหรับลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ทำกันในวัดนั้นเอง

ในเรื่องของการศึกษานั้นก่อนที่จะมีโรงเรียนอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน สรรพวิชาทุกอย่างล้วนเกิดจากวัดทั้งสิ้น ครั้นถึงรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ หรือ สมเด็จพระปิยมหาราช พระองค์ทรงมีคุณูปการแก่สังคมไทย ทรงพัฒนาการศึกษา โดยตระหนักดีว่า ประเทศจะเจริญได้ก็ต่อเมื่อ คนในชาติมี “ความรู้” และเป็น “คนดี” จึงโปรดให้ปฏิรูปการศึกษา เพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างและเตรียมงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง โดยมีเป้าหมายหลักสามประการ คือ เพื่อฝึกคนทำราชการ เพื่อคุณประโยชน์ของประชาชน และเพื่อบำรุงรักษาพระศาสนา

พระองค์ทรงขยายการศึกษาสู่คนทุกหมู่เหล่า ให้ลูกหลานของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ตลอดจนคนทั่วไปได้โอกาสศึกษาเล่าเรียน โดย พ.ศ. ๒๔๑๕ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียน “พระตำหนักสวนกุหลาบ” ซึ่งเป็นโรงเรียนหลวงแห่งแรกสำหรับลูกหลานของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง พ.ศ. ๒๔๑๗ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสตรีวังหลัง พ.ศ. ๒๔๒๗ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรตามวัดต่างๆ โรงเรียนหลวงสำหรับลูกหลานชาวบ้านแห่งแรก คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม การศึกษาลักษณะนี้ก็ได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วกรุงเทพฯ และก็โปรดให้ตั้งขึ้นตามวัดต่างๆ ขยายออกทั่วประเทศทีละน้อยๆ

นอกจากนี้แล้วยังโปรดให้ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยในวังหลวง แต่งหนังสือแบบอ่านขั้นต้น เช่น มูลบทบรรพกิจ ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) สงฆ์หลายรูปในต่างจังหวัดก็ช่วยแต่งแบบฝึกอ่านขั้นต้นทั้งสอนขนบธรรมเนียม มารยาทของเด็กไทย ให้เด็กๆ ได้เล่าเรียนและฝึกหัด เด็กชายสมัยนั้นจึงอ่านหนังสือออกมากขึ้น และกิริยามารยาทเรียบร้อยดีก็เพราะพระสงฆ์ท่านฝึกและสอนให้รู้จักปรนนิบัติพระสงฆ์ในเวลาว่างเรียน ต่อมากรมธรรมการขยายเป็นกระทรวงศึกษาธิการ รวมเอากรมอื่นที่ตั้งเพิ่มใหม่ เช่น กรมสังฆการี ซึ่งดูแลสงฆ์ ต่อมาเป็นกรมการศาสนา ในปัจจุบัน

สรรพวิชาเกิดจากวัด
กองแผนงาน กรมการศาสนา ได้ประมวลสรุปบทบาทของวัดในอดีตของไทยไว้ ในบทความเรื่อง อดีต ปัจจุบัน และอนาคต แห่งบทบาทของวัด จากผลงานเขียนและวิจัยของผู้ทรงคุณวุฒิไว้ดังนี้ เมื่อศึกษาและพิจารณาในทางสังคม จากอดีตที่ผ่านมาแล้วจะพบว่า วัดในพระพุทธศาสนามีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนไทย หรือชุมชนไทยเป็นอย่างมาก เช่น

๑.วัดเป็นสถานที่ชาวบ้านส่งกุลบุตร มาอยู่รับใช้พระสงฆ์และรับการฝึกอบรมทางศีลธรรม และเล่าเรียนวิชาการต่างๆ ตามที่มีสอนในสมัยนั้น

๒.วัดเป็นสถานที่พ่อแม่ ตลอดจนคนแก่คนเฒ่าและสตรี มารับความรู้ด้วยการสดับพระธรรมเทศนา

๓.วัดเป็นสถานพยาบาล ที่รักษาผู้เจ็บป่วยตามภูมิรู้ของคนในสมัยก่อน โดยวัดเป็นแหล่งตำราแพทย์ และพระสงฆ์ทำหน้าที่เป็นหมอรักษาพยาบาลคนเจ็บป่วยทั่วไป

๔.วัดเป็นสถานสงเคราะห์ ที่บุตรหลานชาวบ้านที่ยากจน ได้มาอาศัยเลี้ยงชีวิตและศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนถึงผู้ใหญ่ที่ยากจนได้มาอาศัยเลี้ยงชีพ

๕.วัดเป็นสถานที่พักอาศัยของคนเดินทาง

๖.วัดเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านได้มาพบปะสังสรรค์ และพักผ่อนหย่อนใจ โดยที่ทางวัดได้จัดสถานที่ต่างๆ บริเวณวัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด และร่มรื่น

๗.วัดเป็นสถานที่รื่นเริง ที่จัดเทศกาลและมหรสพต่างๆ สำหรับชาวบ้านทั้งหมด เช่น งานก่อพระเจดีย์ทรายในวันสงกรานต์ งานเทศน์มหาชาติ ฯลฯ และยังเป็นสถานที่พบปะของคนหนุ่มสาวด้วย

๘.วัดเป็นบ่อเกิดและศูนย์กลาง ของศิลปกรรมแขนงต่างๆ เช่น จิตรกรรม ปฏิมากรรม สถาปัตยกรรม และวรรณกรรม

๙.วัดเป็นที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นที่ปรึกษาแก้ปัญหาชีวิตครอบครัว และความทุกข์ต่างๆ ของชาวบ้าน

๑๐.วัดเป็นสถานที่สำหรับชาวบ้านรอบวัดมาทำบุญและบำเพ็ญกุศล ตลอดจนประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนา

๑๑.วัดเป็นคลังพัสดุ สำหรับเก็บของใช้ต่างๆ ซึ่งชาวบ้านจะได้ใช้ร่วมกัน เมื่อมีงานที่วัดหรือขอยืมไปใช้ เมื่อคราวมีงาน

๑๒.วัดเป็นศูนย์กลางการบริหาร หรือการปกครอง ที่กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านจะเรียกลูกบ้านมาประชุมกัน เพื่อบอกแจ้งกิจการต่าง ๆ





"ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วัดมีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชน ที่เกี่ยวพันกับชาวไทย ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้ให้บริการต่างๆ ที่จำเป็น เช่น ให้การศึกษาแก่เด็กชาย ให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้านที่เดือดร้อน ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตลอดถึงให้การรักษาพยาบาล"




ที่มา: 

http://palungjit.org/threads/โรงเรียนวัดแห่งแรก-กับ-สรรพวิชาเกิดจากวัดตั้งแต่เกิดจนตาย.282795/

ความคิดเห็น

  1. เห็นด้วย อย่างยิ่งค่ะ

    ตอบลบ
  2. เมื่อรู้แล้วว่า เกิดแล้วต้องตายทุกคน และสิ่งที่เอาติดตัวไปได้มี2สิ่งคือ "บุญและบาป" เราจึงต้องสร้างบุญอย่างเดียวเอย.

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อัมพชาดก: มนต์เสื่อมเพราะลบหลู่ครูอาจารย์

คนที่ชอบด่าว่าหรือใส่ร้ายผู้อื่น กรรมจะมาเร็วมาก เป็นกรรมทางวาจา มีผลร้ายแรงมาก

ใจสบายไปทั่วโลก กับบทแผ่เมตตาภาษาอังกฤษ