พระภิกษุสงฆ์: ชีวิตเพื่อสังฆภาวะและชุมชน



เมื่อกล่าวถึงบทบาทของพระสงฆ์ในสังคมไทยแล้วเราจะเห็นได้ชัดเจนมาก เพราะสำหรับชาวพุทธแล้วตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายจะมีความเกี่ยวข้องกับบทบาทของพระสงฆ์ตลอด เช่น  


พอเกิดหรือครบรอบวันเกิดก็ต้องทำบุญหรือใส่บาตรพระ



งานแต่งงานก็ต้องนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพุทธมนต์ 


เจ็บป่วยก็ทำบุญ และบางแห่งพระอาจเป็นหมอกลางบ้าน เป็นเจ้าของตำราหมอยาพื้นบ้าน ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน 


"โครงการเยียวยาใจยามป่วยไข้จากวัดสู่วอร์ด รพ.รามาธิบดี"
เป็นโครงการที่ต้องการให้ผู้ป่วยใด้ทำบุญโดยจะนิมนต์พระมาบิณฑบาตทุกเช้าวันพฤหัสบดีบนหอผู้ป่วยอาคาร 1 และ อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ เพื่อให้ผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่และได้มีโอกาสทำบุญและรับศีลรับพรจากพระภิกษุ

จนกระทั่งเวลาตาย ก็ต้องมีพระภิกษุสงฆ์มาสวดและทำพิธีต่างๆให้อีก 




แม้ตายไปแล้วครอบครัวและญาติมิตรก็ยังต้องไปทำบุญที่วัดหรือใส่บาตรเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้


พระสงฆ์คือใคร? 
คือผู้ซึ่งสละแล้วซึ่งสภาวะความเป็นปัจเจกภาวะ แต่มีชีวิตเพื่อสังฆภาวะ เพื่อชุมชน มีจิตวิญญาณเพื่อชุมชน



ยิ่งในสมัยโบราณด้วยแล้ว วัดหรือพระสงฆ์กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนไปในตัว วัดเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ของชุมชน มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นก็มาประชุมกันที่วัด มาร่วมกิจกรรมทางศาสนา เช่นมาทำบุญใส่บาตรที่วัด ในวันสำคัญทางศาสนาและวันที่มีการประชุมเรื่องราวที่ทางราชการให้ผู้นำหมู่บ้านอย่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อได้รับเรื่องราวข่าวสารจากทางราชการมาก็มาประชุมกันที่วัด




พระสงฆ์มาจากไหน?
มาจากลูกชาวบ้าน ในประเด็นนี้ที่มาของพระสงฆ์จะมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะสมัยก่อนผู้ที่ได้โอกาสที่จะบวชเป็นพระเป็นเณรนั้น ต้องเป็นผู้มีสถานภาพทางสังคมมาก่อน อย่างสมัยสุโขทัยเรืองอำนาจ เป็นต้นมา บุคคลผู้มาบวชนั้นต้องเป็นผู้มีสถานภาพที่สูงของสังคมและเมื่อลาสิกขาออกไป ต้องไปเป็นนักปกครอง นักบริหารบ้านเมือง


พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท )ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองจนสุโขทัยกลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา และทรงปฏิบัติพระองค์ชักนำชนทั้งหลายให้พ้นทุกข์

บทบาทหลักของพระสงฆ์

ด้านการปกครอง
ในส่วนของบทบาทด้านนี้โดยมองจากการปกครองภายในของพระสงฆ์เอง เป็นการปกครองในเชิงของธรรมาภิบาล คือดูแลกันโดยธรรม ปกครองกันแบบพ่อปกครองลูก อาจารย์ปกครองศิษย์ ดังปรากฏตัวอย่างที่เป็นต้นแบบให้เห็นชัดเจน คือ หน้าที่ของสัทธิวิหาริกที่จะพึงปฏิบัติต่อพระอุปัชฌาย์ และหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์จะพึงปฏิบัติต่อสัทธิวิหาริก ตรัสสั่งให้พระอุปัชฌาย์และสัทธิวิหาริก ตั้งจิตสนิทสนมในกันและกัน ให้พระอุปัชฌาย์สำคัญสัทธิวิหาริกฉันบุตร ให้สัทธิวิหาริกนับถือพระอุปัชฌาย์ฉันบิดา เมื่อเป็นเช่นนี้ ต่างจะมีความเคารพเชื่อฟังกันและกัน ย่อมถึงซึ่งความเจริญงอกงามในธรรม ตรัสสั่งให้พระอุปัชฌาย์และสัทธิวิหาริกให้เอื้อเฟื้อประพฤติชอบต่อกัน หน้าที่ของสัทธิวิหาริกจะพึงกระทำต่อพระอุปัชฌาย์เรียกว่า อุปัชฌายวัตร และหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์จะพึงปฏิบัติต่อสัทธิวิหาริก เรียกว่าสัทธิวิหาริกวัตรและ อาจาริยวัตร หน้าที่ของศิษย์ที่จะพึงปฏิบัติต่ออาจารย์  อันเตวาสิกวัตรหน้าที่ของอาจารย์จะพึงปฏิบัติต่อศิษย์   ทั้งสองฝ่ายต่างก็เอื้ออาทรต่อกัน มีไมตรีจิตต่อกัน  (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า       กรมพระยาวชิรญาณวโรรส.  ๒๕๓๕, หน้า  ๔๓)



 บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการปกครองนี้  นอกจากจะมีความสงบสุข  มีความสันติสุขในหมู่ของพระสงฆ์เองแล้ว  ยังสามารถเป็นต้นแบบของการปกครองได้เป็นอย่างดีด้วย

ด้านการศึกษาสงเคราะห์
ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันพระสงฆ์ได้ทำหน้าที่ให้ความอนุเคราะห์ในด้านการศึกษา ทั้งส่วนที่จัดการศึกษาเองโดยตรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ทางรัฐบาลไม่สามารถจัดการศึกษาบริการได้ทั่วถึง เช่นพระสงฆ์ให้การศึกษา มีบทบาทเป็นครูสอนธรรมะและวิชาความรู้ในวัด  ในขณะที่ศึกษาก็ไม่ต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาล  แต่ใช้ทุนจากประชาชนโดยตรง ทั้งที่อยู่อาศัย  อาหารและในการใช้จ่าย  แม้จะมีส่วนหนึ่งที่เรียนจบแล้วที่ทางฝ่ายคณะสงฆ์ยังไม่ได้ใช้งาน  แล้วท่านเหล่านั้นลาสมณเพศออกไปก็ไปทำงานให้ทางรัฐบาล โดยที่รัฐไม่ต้องลงทุน หากมองอย่างนี้แล้วจะเห็นได้ว่าคณะสงฆ์ได้ช่วยเหลือสงเคราะห์รัฐบาลด้วย ไม่เพียงแต่ได้ช่วยอนุเคราะห์กับประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่อย่างไรก็ตามบทบาทของพระสงฆ์ในการศึกษาสงเคราะห์นี้ อาจมองได้ทั้งที่เป็นระบบ คือจัดตั้งโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอน  มีหลักสูตรที่แน่นอน และอีกที่จัดอย่างไม่เป็นระบบ อาจเป็นลักษณะการให้ทุนสนับสนุนการศึกษา การให้ทุนในสร้างอาคารเรียน ให้ทุนซื้อสื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์ทางการศึกษา ให้ทุนการศึกษากับครูเพื่อพัฒนาครูในสาขาวิชาที่ขาดแคลน ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ฯลฯ




โครงการธรรมยาตราฯ ปีที่ 6 รักษ์บวร รักษ์ศีล 5
มอบทุนการศึกษาแก่สถานศึกษาในพื้นที่จ.สุพรรณบุรี จำนวน 10 แห่ง 


ด้านการเผยแผ่
บทบาทของพระสงฆ์ในด้านการเผยแผ่ แท้จริงแล้วบทบาทด้านนี้ พระสงฆ์ทุกรูปได้รับมอบหมายจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรง เพราะหน้าที่ของพุทธสาวก คือมีหน้าที่ศึกษาเรียนรู้คำสอนให้เกิดความรู้ความเข้าใจ แล้วปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนนั้นแล้วต้องสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตามด้วย นี่จึงได้ชื่อว่าพระสงฆ์สาวก



บทบาทด้านการเผยแผ่ที่เป็นปกติจนประชาชนมองเป็นวิถีชีวิตหรือเป็นกิจวัตรของพระสงฆ์ ก็คือการแสดงธรรมในวันพระ ในเทศกาลวันสำคัญ พระสงฆ์ได้โอกาสในการแสดงธรรมการเผยแผ่ธรรมอยู่เป็นปกติ และในรูปแบบที่ไม่เป็นรูปแบบ กล่าวคืออาจจะใช้วิธีการพูดคุยสนทนาในโอกาสพบปะ จะเป็นการเผยแผ่โดยไม่เป็นกิจจะลักษณะ แต่ก็แฝงด้วยให้ข้อคิดทางธรรม หรือในโอกาสที่ประชาชนมาทำบุญวันเกิดแล้วขอพรจากพระสงฆ์ มาถวายสังฆทานแล้วพระสงฆ์ก็ให้พร ในช่วงเวลาสั้นๆ เป็นการสอนโดยที่ผู้รับไม่รู้ว่าถูกสอน แต่ได้ซึมซับเอาคำสอน เอาคติธรรม ได้เกิดการเรียนรู้พระธรรมคำสอน 




ด้านสาธารณูปการ
บทบาทด้านนี้ของพระสงฆ์หากพูดไปแล้วนับว่ามีความสำคัญไม่น้อย เพราะต้องเป็นผู้นำในการสร้างวัด หรือศาสนสถาน



ด้านสาธารณสงเคราะห์
บทบาทของพระสงฆ์ในด้านสาธารณสงเคราะห์  เรายังเห็นได้ชัดเจนว่า  พระสงฆ์ที่มีบารมี มีเอกลาภมากๆ ท่านไม่ได้เก็บไว้เพียงตัวท่านเอง  หากแต่ได้ช่วยสร้างโรงพยาบาล ที่ว่าการอำเภอ อนามัยตำบล ศาลาที่ประชุม ศาลาพักริมทาง  ทำบ่อน้ำ  ทำสะพาน ฯลฯ







หากมองลึกลงไปถึงการพัฒนาในด้านจิตใจ พระสงฆ์ได้พัฒนาจิตใจของคนในชุมชน จากคนที่ติดยาเสพติดให้เลิก จากที่เคยติดเหล้าให้เลิกเหล้า จากที่เคยติดการพนันให้เลิกจากการพนัน จากที่เคยลุ่มหลงในไสยศาสตร์ ที่เคยงมงายให้รู้ใช้สติปัญญา จากความเห็นผิด(มิจฉาทิฐิ)ให้มีความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฐิ) 




พระสงฆ์พัฒนาจิตใจของคนในชุมชนให้ขยันหมั่นเพียรในการทำมาหาเลี้ยงชีพ คือหาและสอนให้ขยันเก็บออม ประหยัดใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่า ไม่ฟุ่มเฟือย หรูหรา หลงตามค่านิยมที่ผิดๆ (ค่านิยมที่ไม่น่านิยม) สอนให้คนที่อยู่สังคม แต่สอนให้รู้จัดเลือกคบคน โดยให้เลือกคบกับบัณฑิต ให้หลีกเว้นจากคนพาล และสอนให้วางตนให้เหมาะสมกับภาวะแห่งตน รู้จักฐานะของตน




พระภิกษุสงฆ์ในสังคมไทยเกื้อกูลชุมชนมาตั้งแต่โบราณกาล ช่วยพัฒนาประเทศชาติตลอดมา ตามบทบาทด้านต่างๆที่ท่านได้ไปเกี่ยวข้อง เรียกได้ว่ามีชีวิตเพื่อสังฆภาวะและชุมชนจริงๆ

ที่มา: https://www.gotoknow.org/posts/300502




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อัมพชาดก: มนต์เสื่อมเพราะลบหลู่ครูอาจารย์

คนที่ชอบด่าว่าหรือใส่ร้ายผู้อื่น กรรมจะมาเร็วมาก เป็นกรรมทางวาจา มีผลร้ายแรงมาก

ใจสบายไปทั่วโลก กับบทแผ่เมตตาภาษาอังกฤษ