บัตรสนเท่ห์ จดหมายที่มาจากปากกายาพิษ และการจัดการด้วยหลักการทางพระพุทธศาสนา


ในภาษาอังกฤษ บัตรสนเท่ห์  ก็คือ anonymous letter คำว่า anonymous หมายถึง ปิดชื่อ นอกจากจะใช้ว่า anonymous letter แล้ว บัตรสนเท่ห์ ยังใช้ poison-pen letter ที่หมายถึง จดหมายที่มาจากปากกายาพิษ 




อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ทำงานตามภาระงานที่เป็นการเรียนการสอนทั่วๆไป แต่มีเหตุการณ์ เผยแพร่บัตรสนเท่ห์ ในที่ทำงาน จนอาจารย์ท่านนี้ สนใจที่จะนำมาวิเคราะห์พร้อมดูแนวทางจัดการกับบัตรสนเท่ห์ ตามหลักการจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และในพระพุทธศาสนา ในที่นี้ ขอเน้นเรื่องความรู้ในพระพุทธศาสนาที่มีพุทธวิธีในการจัดการข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ ด้วยท่าทีและการวางท่าทีตามแบบชาวพุทธ โดยมีเนื้อหาดังนี้




บัตรสนเท่ห์ เป็นเครื่องมือการสื่อสารที่มีเป้าหมายเพื่อให้รู้ข้อมูล ที่เป็นได้ทั้งจริงและเท็จ  โดยมีผลแอบแฝงจากการสื่อสารนั้น เพื่อเป็นการทำร้ายและทำลายอีกฟากฝั่งหนึ่ง  

เมื่อสนเท่ห์เกิดขึ้นการจัดการสนเท่ห์ต่อข้อเท็จจริงนั้นจึงเป็นความจำเป็น รวมทั้งใช้หลักการทางพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องกำหนดท่าทีต่อพฤติกรรมและการกระทำนั้น ตามหลักโลกธรรม นินทา สรรเสริญ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความขัดแย้ง รุนแรง และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้ความแตกต่างนั้นให้ได้ โดยใช้กฎ กติกา (รัฐ) และเกณฑ์ของวิถีประชา (สังคม) เป็นเครื่องประคองเพื่อการอยู่ร่วมกันในที่สุดด้วย



การช่วงชิงพื้นที่ทางการสื่อสาร กลายเป็นกลไกที่สำคัญ ในวิถีทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เมื่อผู้เขียนผันชีวิตมาเป็นคนใน“มหาวิทยาลัย”ภาระงานก็คงเป็นการเรียนการสอนทั่ว ๆ ไป แต่มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น ที่ให้ต้องหันกลับมาพิจารณา ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาแห่งนี้  กล่าวคือมีการเผยแพร่ “บัตรสนเท่ห์” ในรูปเอกสาร และส่งต่อด้วยการสื่อสารสาธารณะ Line และ Facebook ในทำนองกล่าวหา ฟ้องร้อง และโจมตี การให้ข้อมูลทั้งเท็จ และจริงอยู่ในนั้นผสมกันไป  แต่โดยหลักใหญ่ใจความกลับเป็นการลดทอนคุณค่า ใส่ความและให้ร้ายต่อบุคคลที่กล่าวถึง



คำว่าบัตรสนเท่ห์ เมื่อวิเคราะห์ความหมายจากทั้ง  พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน  อักขราภิธานศัพท์โดยหมอบรัดเลย์ (พ.ศ.2416)  พจนานุกรมรัตนมาลา และสารานุกรมอื่นๆ  อาจมองได้ว่าเป็นการประสงค์ร้าย หรือมุ่งร้าย เสียมากกว่าและในเวลาเดียวกันในพฤติกรรมและการกระทำ เป็นการประสงค์ต่อทรัพย์ตำแหน่ง และชีวิตเป็นเครื่องหมาย 



ดังกรณีในพระพุทธศาสนามีแนวคิดเรื่องของการห้ามภิกษุ “เลศโจทย์” หรือ “กล่าวโดยไม่เป็นความจริง” เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจัดเป็นกล่าวหา ใส่ความ ดังปรากฏความว่า “ภิกษุผู้โจทก์ไม่ได้เห็นภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ถ้าโจทก์ภิกษุนั้นว่า ‘ข้าพเจ้าเห็นท่านต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ท่านไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายศายกบุตร ท่านรวมอุโบสถ ปวารณาหรือสังฆกรรมไม่ได้’ ต้องอาบัตสังฆาทิเสสทุก ๆ คำพูด” (วิ.มหา (ไทย) 1/387/420)  แปลความก็คือ การกล่าวหาโดยไม่เป็นจริง หรือไม่มีมูลก็มีความผิดต่อผู้กล่าวหานั้น (อาบัติ)จริงก็ให้มีการตรวจสอบวินิจฉัย ประชุมสงฆ์ ตรวจสอบ สั่งการและหาแนวทางในการป้องกันเช่น การออกกฏระเบียบเพื่อ ป้องกัน ควบคุม และป้องปราม ในกรณีทีเป็นความผิดก็ให้ระมัดระวัง



บัตรสนเท่ห์สามารถใช้เพื่อการ ทำร้าย ทำลาย จนเป็นความรุนแรงแม้กระทั่งชีวิต หมายถึง เป็นการสร้างเรื่องเพื่อฟ้อง ใส่ความ โดยมีนัยยะของการใช้ความจริง ที่สร้างขึ้น แฝงด้วยความไม่จริง โดยมีผลปลายทางเป็นการลดทอนคุณค่า หรือผลในทางลบต่ออีกฝ่ายหนึ่ง จนกลายเป็นการเสียชื่อเสียง เกียรติยศไป  หรือรุนแรงไปจนกระทั่งประสงค์ต่อตำแหน่งและชีวิต

นางจิญจมาณวิกา “สนเท่ห์” ที่สร้างขึ้นด้วยการทำทีเป็นท้อง ด้วยการใส่ไม้หนุนไว้หน้าท้อง เพื่อทำสัญลักษณ์ประหนึ่งว่าท้อง เป็นพฤติกรรมอำพรางที่มีเจตนาแอบแฝงเพื่อการใส่ความจากความไม่รู้นั้น 
(ที่มาภาพ http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=39613&start=45)

ดังกรณีที่นางจิญจมาณวิกา ทำทีเป็นท้อง โดยการใส่ไม้หนุนไว้หน้าท้อง เพื่อทำสัญลักษณ์ประหนึ่งว่าท้อง เป็นพฤติกรรมอำพราง (ขุ.อป. (ไทย) 32/72/575) สนเท่ห์ สร้างสิ่งเชื่อ ดังพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้ากล่าวถึงเหตุการณ์นั้นไว้ว่า “นางจิญจมาณวิกาจึงมากล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริงท่ามกลางหมู่ชน”พร้อมยกคาถาในเหตุการณ์นั้นว่า “บุคคลผู้ล่วงละเมิดธรรมอย่างหนึ่ง ผู้มักกล่าวเท็จ ปฏิเสธปรโลก จะไม่ทำบาปไม่มี”(ขุ.ธ. (ไทย) 25/176/88)

รวมถึงการที่นักบวช “นิครนถ์” เสียประโยชน์จากการมีอยู่ของพระพุทธศาสนา จึงใส่ร้ายพระสงฆ์ และวัดให้ได้รับความเสียหายจากการจ้างนางสุนทรีไปที่วัด แล้วฆ่านางพร้อมใส่ความแก่วัดและพระสงฆ์ว่าเป็นผู้ฆ่า (ขุ.อุ. (ไทย) 25/38/246-250) 

พระทัพพะมัลลบุตรผู้เป็น “ภัตตุเทศน์” จัดเสนาสนะผลประโยชน์อันพึงได้แก่พระภิกษุสามเณรอย่างเหมาะสม แต่มีพระเมตติยะ และพระภุมมชกะ (วิ.จู (ไทย) 7/265/44) ไม่พอใจต่อการเป็นผู้ทำหน้าที่ของพระทัพพะ จึงให้ “เจ้าวัฑฒะลิจฉวี”(วิ.จู (ไทย) 7/293/85) กล่าวโจทย์ด้วยอาบัติที่ไม่เป็นจริง จนต้องมีการบัญญัติสิกขาบท (วิ.จู (ไทย) 7/293/85.) ต่อผู้มีพฤติกรรมกล่าวโจทย์ที่ไม่เป็นจริง และนำไปสู่การ“คว่ำบาตร”(วิ.จู (ไทย) 7/266/46) ต่อบุคคลที่มีพฤติกรรมสร้างข้อมูลเท็จกล่าวร้ายต่อพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา  

ดังนั้นสนเท่ห์ที่เกิดขึ้นในครั้งพุทธกาล ทั้ง ๓ เหตุการณ์ จึงหมายถึงการสื่อสารด้วยความเท็จ จนมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลง เป็นความเสียหายจากข้อมูลข่าวสารนั้น มีผลลัพธ์เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างจากพฤติกรรมและการกระทำต่อผู้ถูกกระทำนั้น


แนวทางต่อการจัดการการสื่อสาร รวมไปถึงบัตรสนเท่ห์ด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

ในทางพระพุทธศาสนามีหลักคำสอนที่เกี่ยวกับ “สัจจะ” ความจริงเพื่อยืนยันความจริง มีแนวคิดเรื่องทุกข์ เป็นสภาพที่ทนได้ยาก รวมไปถึง ขันติธรรม การใช้ความอดทนเพื่อก้าวผ่านสภาพที่ทนได้ยาก โดยใช้ความจริงเป็นเครื่องยืนยันความจริงนั้น กรณีของ “สนเท่ห์” หากใช้มุมมอง และหลักการทางพระพุทธศาสนามาร่วมอธิบายจะได้การอธิบายความร่วมได้ว่า

1.การใช้บัตรสนเท่ห์เป็นการสืบ สอบทานข้อมูล และข้อเท็จจริง กล่าวคือ พระพุทธศาสนามีแนวคิดเรื่อง “สัจจะ” ที่แปลว่าความจริง รวมไปถึงเรื่อง “ความลับ” เมื่อถึงที่สุดต้องเปิดเผย ดังพุทธพจน์ที่ว่า “นตฺถิโลเก รโห นามะ”ที่แปลความว่า “ขึ้นชื่อว่าความลับไม่มีในโลก” รวมไปถึงการบัญญัติวินัยในครั้งพุทธกาลล้วนจากการ “โพนทะนา-โจทก์” จึงนำไปสู่การสอบสวนข้อเท็จจริง ไม่ผิดหรือไม่มีมูลความจริง ก็จบไป เกิดเรื่องนั้นมีมูลเป็นความผิดก็ออกกฎ หรือสร้างมาตรการในการแก้ไขป้องกันไม่เกิดเหตุซ้ำด้วยการบัญญัติพระธรรมวินัยมารองรับ แก้ไข ป้องกัน 

กรณี “สนเท่ห์” เมื่อเทียบกับแนวคิดหลักปฏิบัติในทางพุทธศาสนา ข้อดีคือทำให้เกิดการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่ถึงแหล่งที่มาและข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ว่าเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร หรือทำไม่จึงเกิดขึ้น เพื่อหาความจริงต่อสิ่งนั้น และเป็นการป้องปรามการกล่าวหา กล่าวร้ายโดยปราศจากมูลความจริง กล่าวคือใช้โอกาสนั้นในการตรวจสอบความจริงเสีย ไม่มีมูลความจริงก็ประกาศให้ชัดต่อความไม่จริงนั้น เกิดจริงก็หาทางป้องกันแก้ไขหรือลุกลามไปมากกว่าที่จะเป็น   



2.การใช้บัตรสนเท่ห์เพื่อเป็นเครื่องมือฝึกขันติธรรม (โลกธรรม-ขันติ) กล่าวคือ พุทธศาสนามีแนวคิดเรื่องโลกธรรม “นินทา-สรรเสริญ” เป็นของคู่มนุษย์ การได้รับชื่นชมก็ยินดีมีความสุข การกล่าวร้ายนินทาก็ตีอกชกตัว เสียใจเป็นของคู่กัน ไม่มีสิ่งใดเป็นนิรันดร์ แปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ “เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป” ดังนั้นเมื่อเจอสภาพที่ถูกกล่าวหา กล่าวร้าย ใส่ความ การฝึกความอดทน (ขันติธรรม) เพื่อให้ผ่านเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ จากสนเท่ห์ ที่เกิดขึ้น หากเราเป็นผู้ประสบ ความยากลำบาก ก้าวข้าม พ้นผ่าน ด้วยความอดทนต่อสภาพรุมเร้านั้นก็จะเป็นกลไกหนึ่งในการดำเนินชีวิตเพื่อให้ชีวิตก้าวไปข้างหน้า

ความทุกข์ยากเหล่านั้น จึงเป็นเครื่องมือในการฝึกขันติ ความอดทนภายใน เพื่อข้ามผ่านความทุกข์อันเกิดจากปัจจัยภายนอก ซึ่งไม่เฉพาะเรื่องบัตรสนเท่ห์ การกล่าวร้าย หรือการติฉินนินทา แต่หมายถึงการทุกข์ด้วยเงื่อนไขอื่นด้วยเช่นกัน  การฝึกขันติธรรมจากความจริง แม้ไม่พึงใจก็ต้องรับและก้าวผ่าน   เพราะความจริงนั้นเป็นเงื่อนไขที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความเห็นต่าง เห็นแย้งและนำไปสู่การใช้ความจริง หรือไม่จริงมาเป็นเครื่องมือในการประหัตประหารทำร้ายด้วยเช่นกัน  แม้ความจริงนั้นจะไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แต่เมื่อปรากฏต่อสาธารณะ อาจทำให้เกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อน เหตุผลเนื่องต่อที่ตามมาจึงเป็นเงื่อนไขร่วม เช่น  การติฉินนินทา ว่าร้าย ดูถูก ดูแคลน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ต้องใช้ความอดทนต่อความไม่จริงนั้น หรือจริงเพียงบางส่วนในการผ่านข้อเท็จจริงไปสู่การดำเนินชีวิตให้เข้มข้นและดิ้นรนเพื่อไปสู่ชีวิตที่มั่นคงและผ่านนาวาชีวิตนี้ไปให้ได้ ดังนั้นความอดทนจึงเป็นความจำเป็นและเป็นช่องทางในการฝึกฝนพัฒนาตนไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งกว่า 



3.การใช้บัตรสนเท่ห์เพื่อเข้าถึงความจริงขั้นสูง (สัจจะ-สันติ) ในทางพระพุทธศาสนามีแนวคิดในเรื่องโลกธรรม กล่าวคือ เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ต้องพบกับโลกธรรมที่เรียกว่า มีสุขทุกข์ มีนินทา สรรเสริญ เป็นวิถีธรรมชาติ และในเวลาเดียวกันก็ไม่มีสิ่งใดที่เป็นนิรันดร์ แปลว่าสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไปเป็นไปตามเหตุปัจจัย  ดังนั้นบัตรสนเท่ห์ จึงเป็นการใช้ความจริง หรือความไม่จริงนั้นเป็นกลไกในการฝึกหัด พัฒนาตัวเองให้เห็นความจริงในความไม่จริง และเห็นความจริงในฐานะที่จะเป็นความจริงแท้ตามหลักการทางพระพุทธศาสนา และใช้ความจริงนั้นเข้าถึงความจริงสูงสุดตามอุดมคติทางศาสนา ผ่านแนวคิดว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี” บัตรสนเท่ห์ไม่ได้เป็นเหตุนำไปสู่ความสงบ แต่เราสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องฝึกหัดพัฒนาตนเพื่อเข้าถึงความสงบจากความวุ่นวายได้ 

ดังนั้นบัตรสนเท่ห์ในความหมายของการบริหารจัดการชีวิต ความคิด ตามหลักพระพุทธศาสนา คือ การวางท่าทีต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ (ผัสสะ) ด้วยใจที่เป็นกลาง (ปกติ-ศีล) ไม่ยินดียินร้ายบนพื้นฐานของความเข้าใจ (ปัญญา-สติ) ซึ่งจะทำให้เราเองในฐานะเป็นชาวพุทธกำหนดท่าทีได้อย่างชัดเจนต่อสภาพปัญหา หรือสิ่งที่เข้ามากระทบนั้นจนทุเลา คลาย กลายเป็นความเบาบาง เจือจางส่งผลเป็นความสุขตามหลักการทางพระพุทธศาสนาได้



ที่มา: https://www.thairath.co.th/content/372814
      http://oknation.nationtv.tv/blog/Bansuan/2015/12/24/entry-1






ความคิดเห็น

  1. บัตรหรือจดหมายสนเทห่ เป็นเรื่องปกติที่ไม่ควรตื่นเต้นตกใจจนเกินไป คนอ่านต้องมีวิจารณญาณในการพิจารณากลั่นกรอง ตรงนี้ที่สำคัญ

    ตอบลบ
  2. ศีลที่ผิดง่ายที่สุด ก็มีศีลข้อ ๔ ตกนรกง่ายก็เพราะชอบพูดถึงบุคคลที่ ๓ ทำให้เขาเสียหายโดยที่เขาไม่มีความผิดเลย ใครที่ชอบทำหยุดเสียเถอะมันไม่คุ้มเลย มาช่วยกันจรรโลงโลกใบนี้ ด้วยปิยวาจาจะดีกว่านะคะ คำพูดนี้สร้างให้คนมีกำลังใจและทำลายกำลังใจ เลือกเอาจะไปสวรรค์หรือไปอบาย ชีวิตเราออกแบบได้ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ขอกราบอนุโมทนาบุญ สาธุค่ะ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อัมพชาดก: มนต์เสื่อมเพราะลบหลู่ครูอาจารย์

คนที่ชอบด่าว่าหรือใส่ร้ายผู้อื่น กรรมจะมาเร็วมาก เป็นกรรมทางวาจา มีผลร้ายแรงมาก

ใจสบายไปทั่วโลก กับบทแผ่เมตตาภาษาอังกฤษ