ชีวิตป้าแช่มและป้าช้อย



แกไปวัดบ่อยจัง ทำบุญอะไรกันบ่อยนัก แกไม่กลัวเงินหมดเหรอป้าแช่มคุยกับป้าช้อยน้องสาว
ก็ไม่เห็นหมดนะ พี่ก็ไปวัดบ้างสิ ไม่เห็นต้องใช้เงินเยอะ ทำบุญตามที่เราสบายใจ ไม่ให้ตัวเองดือดร้อน ดีกว่าไม่ทำบุญเลยนะ ป้าช้อยพูดตอบพี่สาว พร้อมทั้งยื่นมะละกอสุกลูกสวยให้ป้าแช่ม ตอนนี้มะละกอสุกเต็มสวนเลย เอาไปกินหน่อย

ความเป็นคนขยันของป้าช้อย ทำให้มีพืชผักผลไม้เต็มสวน เป็นทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ที่ได้เก็บกิน แบ่งปัน และนำไปทำบุญที่วัดได้ตลอดปี




หัวใจเศรษฐี 4 ประการ ทั้ง ขยันหา รักษาดี มีกัลยาณมิตร ใช้ชีวิตพอเพียง กลายเป็นนิสัยของป้าช้อยไปแล้ว ทั้งยังไม่มีหนี้สิน ชีวิตในบั้นปลายของป้าช้อยจึงเป็นชีวิตที่คลายความกังวลไปได้มาก

ป้าช้อยไปทำบุญที่วัดทุกวัน เพราะมีความสุขกับการเตรียมอาหารอย่างตั้งใจ ไปถวายภัตตาหารพระ สวดมนต์ ฟังธรรม  ได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกันที่วัด การมีเพื่อนดีเป็นกลุ่มเพื่อนที่ปลูกฝังพาลูกหลานเข้าวัดฟังธรรมตั้งแต่เด็ก ทำให้ ลูกชายได้บวชสามเณรภาคฤดูร้อน และบวชพระศึกษาธรรมะเมื่ออายุครบบวช ลูกหลานจึงมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่มั่นคงมีความประพฤติที่ดี และมีความกตัญญูดูแลป้าช้อยอย่างดี  


 สองพี่น้องคลานตามกันมา ผ่านชีวิตครอบครัว และบั้นปลายมาอยู่บ้านใกล้เรือนเคียง แต่ชีวิตต่างกันเหลือเกิน หากป้าแช่มยังตระหนี่เรื่องการทำบุญ ชีวิตภายภาคหน้าก็ยิ่งจะต่างกันแน่นอน

ป้าช้อยค่อนข้างสบายที่ลูกๆส่งเงินให้ใช้ทุกคน พร้อมทั้งรายได้จากกิจการจากสวนผลไม้และบ้านเช่า

ทุกวันนี้ ป้าแช่มยังสู้ชีวิตเลี้ยงเป็ดเก็บไข่ขาย ปลูกผัก ทำกับข้าวเล็กๆน้อยๆขาย ในวัยใกล้70 ยุคปีพุทธศักราช 2560 ที่ประเทศไทยยังไม่ใช่รัฐสวัสดิการ ได้เพียงเงินคนแก่รายเดือนๆละ600บาท



ป้าแช่มไม่ออกไปไหน เพราะกลัวเงินหมด ไม่ไปวัด ไม่เดินทางท่องเที่ยว ประหยัดสุดๆ ทั้งการกินการอยู่
แต่เงินป้าแช่มก็ไม่เคยเหลือติดกระเป๋า ทุกครั้งที่ขายไข่เป็ด ขายผัก ขายอาหารได้ มีความสุขกับรายได้ไม่กี่วัน แต่ก็หมดไปเมื่อหลานชายโทรมาบอกว่าต้องใช้เงินด้วยความจำเป็นร้อยแปด ป้าแช่มต้องส่งเงินที่เก็บหอมรอมริบที่มีให้หลานชาย

หลานชาย ที่รับราชการทหารอยู่ต่างจังหวัด แต่ติดการพนัน แม้จะมีใครตักเตือน ว่าอย่าเชื่อหลานชายมากเกินไป
แต่ความรักความสงสารของหญิงชรา ที่หลานชายเสียแม่ไปตั้งแต่เด็ก เป็นอคติบังตาปิดบังคำตักเตือนทั้งหมด



 การให้ความช่วยเหลือคนรอบข้างหรือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แบบไหนจึงจะดี?



"ให้ปลากับคน ให้อาหารเขาสำหรับหนึ่งวัน สอนให้คนตกปลา ให้อาหารเขาไปตลอดชีวิต"


เช่น ทรัพย์สมบัติที่ปู่ย่าตายายพ่อแม่มีอยู่ ถ้าคอยแต่จะแจกจ่ายให้ลูกๆหลานๆใช้อย่างเดียว ไม่นานหรอก เดี๋ยวก็หมด แต่ถ้าสอนวิธีหาเงิน ใช้เงิน เก็บเงิน ให้ลูกด้วย เขาก็จะมีเงินใช้ไปตลอดชีวิตทีเดียว  การที่พ่อแม่ส่งให้ลูกเรียนหนังสือ สอนวิชาชีพให้ ก็คือ “สอนวิธีจับปลา” ให้ลูกนั่นเอง
แต่ถ้าจะให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ต้องปลูกฝังเรื่องศีลธรรม

โจรปล้น 10 ครั้ง ยังเหลือ บ้าน
ไฟไหม้บ้าน 10 ครั้ง ยังเหลือ ที่
เล่นการพนัน ครั้งเดียว ไม่เหลืออะไรสักอย่าง



การปลูกฝัง ฝึกฝน เรื่องศีลธรรม ก็ต้องทำไปพร้อมกันทั้งบ้าน วัด โรงเรียน จะปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำไม่ได้

บ้าน ก็ สำคัญ
วัด ก็ สำคัญ
โรงเรียน ก็ สำคัญ
ต่อการสร้างคนดี และสังคมที่สงบสุข

มาช่วยกันเถอะ ทั้ง บ้าน วัด โรงเรียน








ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อัมพชาดก: มนต์เสื่อมเพราะลบหลู่ครูอาจารย์

คนที่ชอบด่าว่าหรือใส่ร้ายผู้อื่น กรรมจะมาเร็วมาก เป็นกรรมทางวาจา มีผลร้ายแรงมาก

ใจสบายไปทั่วโลก กับบทแผ่เมตตาภาษาอังกฤษ